การตรวจลำไส้เล็กด้วยวิธีการกลืนแคปซูล (Capsule Endoscopy)

2015-09-07 11:01:49  จำนวนผู้เข้าชม
โดย ".นายภัทรพล กลิ่นรัตน์


      

การตรวจลำไส้เล็กด้วยวิธีการกลืนแคปซูลคืออะไร?

การตรวจลำไส้เล็กด้วยวิธีการกลืนแคปซูลเป็นนวัตกรรมล่าสุด ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินอาหาร ด้วยการกลืนแคปซูลติดกล้องบันทึกภาพขนาดจิ๋ว เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคทางเดินอาหาร กล้องชนิดนี้สามารถตรวจได้ถึงส่วนที่ลึกที่สุดของลำไส้เล็กในจุดที่การส่องกล้อง โดยทั่วไปเข้าไม่ถึงได้ผลการตรวจที่ละเอียด ถูกต้อง แม่นยำและมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับการตรวจหาความผิดปกติ เช่น มีอาการปวดท้องอยู่บ่อยๆ หรือปวดแบบบิดๆ ตรวจหาสาเหตุของโรคเท่าไหร่ก็ตรวจไม่พบเสียทีว่ามีความผิดปกติที่ใด เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลมากเกินไป โดยเฉพาะลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ลึกที่สุดยากต่อการตรวจหาโรค

แคปซูล หรือ แคปซูลเอ็นโดสโคป คืออะไร?

แคปซูล หรือ "แคปซูลเอ็นโดสโคป" เป็นวัสดุขนาดเล็กและเบา ซึ่งมีลักษณะปลายมนโค้งเป็นพลาสติกใส มีเลนส์ และตัวให้แสงสว่างในการถ่ายภาพ พร้อมด้วยตัวบันทึกภาพ โดยผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลืนแคปซูลพร้อมน้ำ ได้อย่างสบาย ไม่ต้องเคี้ยว หลังจากนั้นแคปซูลจะเดินทางไปตามส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินอาหารโดยเริ่มจากปากไปยังหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร (Stomach) ลำไส้เล็กตอนต้น (Duodenum) ลำไส้เล็กตอนกลาง (Jejunum)ลำไส้เล็กตอนปลาย (IIeum) ช่วงลิ้นเชื่อมต่อก่อนถึงลำไส้ใหญ่ (IIeo –cecal Valve) กระพุ้งแรกของลำไส้ใหญ่ (Cecum) และลำไส้ใหญ่ (Colon) ซึ่งจะบันทึกภาพระบบภายในและส่งสัญญาณต่อเนื่องเชื่อมเข้าเก็บบันทึกไว้ใน เครื่องบันทึกภาพ ทำให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างสะดวกแม่นยำ โดยในช่วงเวลา 8 ชั่วโมงระหว่างกลืนแคปซูลลงไปในท้องนั้น ผู้เข้ารับการตรวจสามารถที่จะเคลื่อนไหว หรือทำงานได้ตามปกติ และไม่มีความเจ็บปวด ก่อนที่แคปซูลจะถูกถ่ายออกมาพร้อมอุจจาระ และเมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการวินิจฉัยนี้แล้ว แพทย์จะนำภาพและข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์ประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ (Rapid Workstation) เพื่อให้การรักษาคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และถูกต้องตรงจุดสาเหตุของโรคต่อไป

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ

  • ภาวะซีดหรือโลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือสงสัยว่าอาจจะเกิดจากลำไส้เล็กอาการท้องเสียเรื้อรัง
  • ปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุสงสัยว่าจะมีเนื้องอกในลำไส้เล็ก

ขั้นตอนการตรวจ

  • ผู้เข้ารับการตรวจจะกลืนแคปซูลขนาด 24x11 มิลลิเมตร ที่มีกล้องขนาดจิ๋วติดอยู่พร้อมน้ำโดยไม่ต้องเคี้ยว
  • จากนั้นแคปซูลจะเดินทางไปตามส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินอาหาร โดยอาศัยการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ พร้อมกับถ่ายภาพและส่งเป็นสัญญาณวิทยุมายังชุดรับสัญญาณที่ติดอยู่บริเวณหน้าท้องของผู้ป่วย
  • การตรวจวินิจฉัยด้วยการใช้กล้องแคปซูลจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 8 ชั่วโมง หลังการกลืนแคปซูลประมาณ 2 ชั่วโมง
  • ผู้เข้ารับการตรวจสามารถรับประทานของเหลว หรือขนมขบเคี้ยวได้บ้าง
  • ระหว่างการตรวจผู้เข้ารับการตรวจสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ

  • ก่อนการตรวจด้วยกล้องแคปซูล ผู้เข้ารับการตรวจต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับยาที่ใช้ การแพ้ยา และโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ให้แพทย์ทราบ รวมถึงหากเคยผ่าตัด เช่น ผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดหน้าท้อง เคยมีการอักเสบของลำไส้ ใส่ pacemaker
  • ผู้เข้ารับการตรวจต้องงดน้ำและอาหารก่อนกลืนแคปซูล 12 ชั่วโมง
  • ผู้เข้ารับการตรวจต้องรับประทานยาระบายก่อนการตรวจเพื่อเตรียมลำไส้ให้ว่าง

ข้อดีของการตรวจลำไส้เล็กด้วยวิธีการกลืนแคปซูล

ข้อดีของการตรวจลำไส้เล็กด้วยวิธีการกลืนแคปซูล

  • ผู้เข้ารับการตรวจไม่ต้องบอกซ้ำหรือเจ็บตัวจากการตรวจด้วยวิธีแบบเดิมๆ เช่น การกลืนแป้งเอกซเรย์
  • กล้องแคปซูลสามารถหารอยโรคภายในลำไส้เล็ก ในช่วงที่มีความยาวมาก และในจุดที่ลึกมากได้
  • ไม่ต้องใช้ยาสลบ
  • สามารถเห็นภาพสีสามมิติของลำไส้เล็กได้โดยไม่ต้องผ่าตัด
  • แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยได้อย่างแม่นยำ ทำให้สามารถเลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดได้

ข้อจำกัดและภาวะแทรกซ้อนของการตรวจลำไส้เล็กด้วยวิธีการกลืนแคปซูล

ภาวะลำไส้อุดตันจากการตีบแคบของลำไส้ ซึ่งเกิดได้จากการอักเสบของลำไส้ เคยผ่าตัดช่องท้องหรือก้อนเนื้องอก ซึ่งจะทำให้มีอาการท้องอืด ปวดท้อง และ/หรืออาเจียนขณะกลืนแคปซูล หากมีอาการดังกล่าวควรรีบแจ้งแพทย์ทันที

 

เอกสารอ้างอิง

การตรวจลำไส้เล็กด้วยวิธีการกลืนแคปซูล (Capsule Endoscopy) [Internet]. [cited 2015 Sep 7]. Available from: http://www.phukethospital.com/Thai/Health-Information/Capsule-Endoscopy.php