โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต (Stroke)
2015-09-11 10:00:06 จำนวนผู้เข้าชม
โดย ".จารุวิทย์ บุญวงค์
โรคหลอดเลือดสองหรือ cerebrovascular disease เป็นภาวะที่เกิดความผิดปกติในการไหลเวียนเลือดไปยังสมอง เนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบอุดตัน หรือ เกิดเลือดออกภายใต้กะโหลกศีรษะ สมองจึงขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของระบบประสาท ซึ่งอาจเป็นระบบประสาทรับความรู้สึก ระบบสั่งการ ระบบควบคุมการรู้สึกตัว หรือระบบประสาทอัตโนมัติ1 เป็นปัญหาสำคัญใน ผู้สูงอายุทั่วโลก มีการสำรวจในประชากรไทยที่มีอายุ 45 – 80 ปีในช่วงปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2549 พบว่าความชุกของโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น โดยพบถึง ร้อยละ 1.88 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น2 ดังนั้นโรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นปัญหาที่สำคัญของสาธารณสุขไทยทั้ง ในปัจจุบันและอนาคต
โรคหลอดเลือดสมอง
สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่
- หลอดเลือดในสมองตีบ เกิดจากการมีไขมันมาเกาะหลอดเลือดแดง จนทำให้รูหลอดเลือดแดงตีบแคบลง
- หลอดเลือดสมองอุดตัน เกิดจากการมีลิ่มเลือดจากหัวใจไปอุดตันที่เส้นเลือดในสมอง มักพบในรายที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ (atrial fibrillation)
- หลอดเลือดสมองแตก เกิดจากความดันในเลือดสูง หลอดเลือดโป่งพอง ทำให้มีเลือดออกในสมอง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้
- อายุ เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดก็จะเสื่อมตามไปด้วย โดยผิวชั้นในของหลอดเลือดจะหนาและแข็งขึ้นจากการที่มีไขมันมาเกาะ หลอดเลือดจะแคบลงเรื่อยๆ
- เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง
- ภาวะที่เลือดแข็งตัวเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการจับตัวกันของเม็ดเลือดและมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนปกติ
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้
- โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจึงมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนปกติ
- โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย หากเกิดที่สมองจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า
- ไขมันในเลือดสูง เป็นความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเช่นเดียวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ คือภาวะไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้กีดขวางการลำเลียงเลือด
- โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด ถ้าลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง จะสามารถทำให้สมองขาดเลือดได้
- โรคไมเกรนการหดตัวของหลอดเลือดอย่างรุนแรง
- การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก หรือใช้ยาเสพติด
- การสูบบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง และเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็งตัว
- ยาคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูง
- การขาดการออกกำลังกาย
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
- อาการอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก จะมีอาการทันทีทันใด อาจมีอาการชาร่วมด้วยอาจเป็นที่หน้า แขน ขา ส่วนใหญ่เป็นด้านเดียวของร่างกาย
- การพูดลำบาก กลืนลำบาก ปากเบี้ยว มีปัญหาในการพูด การใช้ภาษา พูดไม่คล่อง ใช้ภาษาผิดหรือไม่เข้าใจภาษา
- ความจำเลอะเลือน ความจำเสื่อม หรือหลงลืมอย่างทันทีทันใด
- มีปัญหาด้านการมองเห็น มองเห็นภาพซ้อน
- เวียนศีรษะ บ้านหมุน
- ปวดศีรษะรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- ซึม หมดสติ
การรักษา และเป้าหมายการรักษา
หลักการคือ รักษาตามสาเหตุและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
- ในระยะเฉียบพลันเพื่อลดความรุนแรงของผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อสมองให้ลดน้อยลงที่สุดเท่าที่จะทําได้และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น
- ในระยะเรื้องรังเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของอาการหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน ฟื้นฟูความผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดํารงชีวิตได้อย่างปกติ
ระยะเฉียบพลัน
เมื่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการดังกล่าวข้างต้น ในอันดับแรกควรให้ออกซิเจนและ จากนั้นให้การรักษาอื่นๆตามนี้
1) จัดการกับความดันโลหิต
หากความดันผู้ป่วยไม่สูงกว่า 220/120 mmHg ไม่จําเป็นต้องได้รับยาลดความดันโลหิต ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการลดลงของ cerebral blood flow ซึ่งอาจทําให้อาการ ischemic stroke แย่ลงได้
ในกรณีที่ SBP > 220 mmHg พิจารณาให้ยาลดความดันในขนาดยาต่ำและระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นๆ ยาที่นิยมใช้ ได้แก่ Labetalol, Nicardipin, sodium nitroprusside
2) ติดตามระดับของของเหลว และอิเล็คโตไลท์
ติดตามระดับของของเหลว และอิเล็คโตไลท์ร่างกายอย่างใกล้ชิดและระวังอย่าให้เกิดภาวะ น้ำเกิน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะ หัวใจวาย, อาการบวมน้ำที่ปอด หรือ อาการสมองบวมน้ำได้
3) ติดตามและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
ควรติดตามและควบคุมให้อยู่ในระดับปกติ โดยอาจพิจารณาให้ insulin เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยแนะนําให้ระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วง 80 - 140 mg/dL
4) อุณหภูมิร่างกาย
อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอาจมีผลเสียโดยเพิ่มพื้นที่สมองที่ถูกทําลายจึงต้องรักษาอาการไข้ที่เกิดขึ้นทันทีหากสงสัยการติดเชื้อจําเป็นต้องหาสาเหตุของการติดเชื้อให้ได้อย่างรวดเร็วและให้ยา empiric antibiotics ตามความเหมาะสม
5) ติดตามจังหวะและอัตราการเต้นของหัวใจ
จังหวะและอัตราการเต้นของหัวใจควรได้รับการติดตามโดย ECG เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วย acute ischemic stroke คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น atrialfibrillation หรือ ventricular arrhythmias
6) โภชนาการ
ผู้ป่วย acute ischemic stroke จํานวนมากจะมีปัญหาเรื่องการกลืน หากพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถกลืนได้จําเป็นต้องให้สารอาหารทางสายยาง
ระยะเรื้องรัง
การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- ยาละลายลิ่มเลือด (thrombolytics): Recombinant tissue plasminogen activator rt-PA; alteplase
- การใช้ยาต้านลิ่มเลือด (anticoagulants): Unfractionated heparin (UFH), Low molecular weight heparin(LMWH)
- การใช้ยาต้านเกล็ดเลือด (antiplatelet): Aspirin
การป้องกัน
- การใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
- การควบคุมความดัน คือ ความดันเลือดที่น้อยกว่า 120/80 mmHg ส่วนในผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวาน หรือ โรคไตเรื้อรัง ความดันเลือดเป้าหมาย คือ น้อยกว่า 130/80 mmHg
- การรักษาภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
- การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าเป้าหมายคือ A1C ≤ 6.5% (Thai)
- งดการสูบบุหรี่
- ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม
- ลดน้ำหนัก
- เพิ่มการออกกําลังการตามความเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
- โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต [อินเทอร์เน็ต]. [อ้างถึง 20 สิงหาคม 2015]. สืบค้น จาก: http://th.yanhee.net/operation/226/3/TH
- เจษฎา อุดมมงคล, เจษฎา เขียนดวงจันทร, สุรีรัตน์ สุวัชรังกูร, นภาศรี ชัยสินอนันต์กุล, อรอุมา ชุติเนตร, เพิ่มพันธุ์ ธรรมสโรช. ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองมาตรฐาน (Certified Primary Stroke Center; CPSC). วารสารสมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย 2558;14:75-85
- อาการของโรคหลอดเลือดสมอง Thai Stroke Society [อินเทอร์เน็ต]. [อ้างถึง 21 สิงหาคม 2015]. สืบค้น จาก: http://thaistrokesociety.org/โรคหลอดเลือดสมองอัมพาต/อาการของโรคหลอดเลือดสม
- Meschia JF, Bushnell C, Boden-Albala B, Braun LT, Bravata DM, Chaturvedi S, et al. Guidelines for the primary prevention of stroke: a statement for healthcare professionals from the American Heart Association/American Stroke Association. Stroke. 2014 Dec;45(12):3754-832.