โรคกระดูกพรุน “มฤตยูเงียบ” ภัยร้ายใกล้ตัวคุณ

2015-08-28 08:57:14  จำนวนผู้เข้าชม
โดย ".ทรงกฎ คำมาอุต


      

            โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นโรคที่ส่งผลให้มีเนื้อกระดูกบางลง และมีความเสื่อมของโครงสร้างในระดับโมเลกุลของเนื้อเยื่อกระดูก ทำให้กระดูกเปราะและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะมีอาการปวดซึ่งเป็นได้ทั้งปวดแบบเฉียบพลัน หรือปวดแบบเรื้อรัง นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีการเคลื่อนไหวหรือขยับตัวลำบาก [1] โรคกระดูกพรุนมีอีกชื่อว่า “มฤตยูเงียบ” เพราะว่าอาการของโรคจะรุกคืบตลอดเวลา โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้ามาก่อน ผู้ป่วยจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเกิดกระดูกหักเสียแล้ว [2]

            สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Institute of Health) ได้นิยามโรคกระดูกพรุนว่าเป็นโรคที่ทำให้ความแข็งแกร่งของกระดูก (bone strength) ลดลง ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงต่อกระดูกหัก ซึ่งความแข็งแกร่งของกระดูกในนิยามนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ความหนาแน่นของกระดูก (bone density) และคุณภาพของกระดูก (Bone quality) [3]

            โดยปกติแล้วมวลกระดูกจะมีค่าสะสมสูงสุดที่ช่วงอายุ 30 – 40 ปี ต่อมาที่อายุประมาณ 40 – 45 ปี จะเริ่มมีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก และในผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว เรียกว่า postmenopausal bone loss 

            การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือผู้ที่ขาดฮอร์โมนดังกล่าว จะส่งผลให้เซลล์ที่ทำหน้าที่สลายกระดูก (osteoclast) มีการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงทำให้เกิดการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก โดยจะเริ่มที่บริเวณกระดูกโปร่ง (cancellous or trabecular bone) มากกว่ากระดูกทึบ (cortical bone) ดังนั้นภาวะกระดูกหักที่เกิดจากโรคกระดูกพรุนจึงมักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนโดยเฉพาะกระดูกบริเวณ กระดูกสันหลัง และสะโพก นอกจากนี้ปัจจัยที่มีผลต่อมวลกระดูก ได้แก่ เชื้อชาติ พันธุกรรม การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การขาดวิตามินดี โรคทางต่อมไร้ท่อ เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ พาราไทรอยด์มากเกินไป โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และการใช้ยาบางประเภท เช่น กลูโคคอร์ติคอยด์ เป็นต้น [3]

            รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับสองรองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกพรุนจะเกิดได้ใน 1 – 3 ของผู้หญิงช่วงอายุ 60 – 70 ปี และ 2 ใน 3 ที่อายุมากกว่า 80 ปี ประมาณว่ามีผู้หญิงมากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลกที่ทุกข์ทรมานจากโรคกระดูกพรุน ที่น่ากลัวไปยิ่งกว่านั้นคือ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส หรือญี่ปุ่น เป็นต้น ผู้หญิงที่เป็นโรคนี้มีน้อยกว่าครึ่งที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา ซึ่งสิ้นเปลืองเงินทองมาก และผู้หญิงในเอเชีย ซึ่งมีเงินทองจำกัด จะมีกระดูกพรุนมากขึ้น และค่าใช้จ่ายจะสูงเป็นเงาตามตัว [2]

            สำหรับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนขององค์การอนามัยโลกจะตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone mass/mineral density, BMD) โดยใช้เครื่อง Dual energy X-ray Absorptiometry (Axial DXA) และประเมินผลความรุนแรงของโรคโดยใช้ค่า BMD ดังนี้

             - ภาวะกระดูกบาง (osteopenia) คือกลุ่มคนที่มีค่า BMD ระหว่าง -2.5 SD <T-score < -1 SD

             - โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) คือกลุ่มคนที่มีค่า BMD ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย -2.5 SD <T-score

             - โรคกระดูกพรุนระดับรุนแรง (severe or established osteoporosis) คือกลุ่มคนที่มีค่า BMD ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย -2.5 SD <T-score ร่วมกับการมีกระดูกหักจากความเปราะบาง [1]

            สำหรับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนขององค์การอนามัยโลกจะตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone mass/mineral density, BMD) โดยใช้เครื่อง Dual energy X-ray Absorptiometry (Axial DXA) และประเมินผลความรุนแรงของโรคโดยใช้ค่า BMD ดังนี้

             - ภาวะกระดูกบาง (osteopenia) คือกลุ่มคนที่มีค่า BMD ระหว่าง -2.5 SD <T-score < -1 SD

             - โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) คือกลุ่มคนที่มีค่า BMD ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย -2.5 SD <T-score

             - โรคกระดูกพรุนระดับรุนแรง (severe or established osteoporosis) คือกลุ่มคนที่มีค่า BMD ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย -2.5 SD <T-score ร่วมกับการมีกระดูกหักจากความเปราะบาง [1]

การรักษา

            ปัจจุบันยังไม่มีหนทางในการรักษาโรคนี้ วิธีการรักษาในปัจจุบันมีผลเพียงแค่หยุดยั้งการสูญเสียมวลกระดูก และรักษาอาการกระดูกหักเท่านั้น วิธีการรักษาที่มีอยู่ก็คือการใช้ยาเช่น แคลเซียม การให้ฮอร์โมนทดแทน และการให้วิตามินดีเป็นต้น โดยยาที่ได้รับการแนะนำในแนวเวชปฏิบัติเพื่อป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน จำแนกได้ ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ยาที่ได้รับการแนะนำในแนวเวชปฏิบัติเพื่อป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน

National Osteoporosis Foundation ค.ศ. 2010 [4]

ประเทศไทย พ.ศ. 2553 [3]

1. ยากลุ่ม bisphosphonates โดยแนะนำให้ใช้ alendronate, ibandronate, risedronate, และ zoledronic acid

1. ให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

2. Calcitonin

2. ยากลุ่ม selective estrogen – receptor modulators (SERMs) ได้แก่ยา raloxifene

3. ฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen and/or hormone therapy) ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

3. ยากลุ่ม bisphosphonates โดยแนะนำให้ใช้ alendronate, risedronate, และ ibandronate ซึ่งเป็นยารับประทาน และยา zoledronate ซึ่งเป็นยาฉีด

4. ยากลุ่ม SERMs ได้แก่ยา raloxifene

4. แคลเซียมและวิตามินดี

5. ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ ได้แก่ยา teriparatide

6. Calcitonin

7. วิตามินเค 2 หรือเรียกว่า menaquinone หรือ menateternone

8. Strotium ranelate ออกฤทธิ์โดยเพิ่มความแข็งแกร่งของกระดูก และลดการสลายกระดูก

9. Teriparatide

การป้องกันโรคกระดูกพรุน

            วิธีที่ดีสุด ก็คือ การเร่งสร้างและสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็ก ให้คำแนะนำการกินอาหารให้ครบหมู่และปริมาณเหมาะสมโดยเฉพาะผักใบเขียว ให้กินแคลเซียม และวิตามินดี โดยนมเป็นสารอาหารที่ให้แคลเซียมดีที่สุด [2] และควรออกกำลังกายเพียงพอและสม่ำเสมอ หยุดสูบบุหรี่ ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 

            ร่างกายคนเราจะมีการละลายแคลเซียมจากกระดูกวันละประมาณ 250 – 300 มิลลิกรัม โดยขับออกทางเหงื่อปัสสาวะ และอุจจาระ ดังนั้นเราควรได้รับแคลเซียมเข้าให้เพียงพอกับจำนวนที่ถูกละลายออกมา เมื่อมีอายุ 25 ปีขึ้นไปแล้ว การดื่มนมมากๆ อาจทำให้อ้วนได้ และอาจทำให้มีไขมันในเลือดสูงซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคความดันโลหิตสูง เส้นโลหิตตีบตัน และโรคอื่นๆ อีกหลายอย่าง จึงควรเลี่ยงโดยดื่มนมชนิดพร่องไขมันแทน หรืออาหาร

อื่น ๆ ที่มีแคลเซียมสูง ส่วนในคนสูงอายุควรดื่มนมพร่องไขมันไม่เกินวันละ 2 ถ้วย (ถ้วยละ 500 ซีซี.) ซึ่งมีปริมาณแคลเซียมประมาณ 200 มก. [5]

            ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ คือ วันละ 1,000 มิลลิกรัม หากรับประทานได้ตามนี้ก็จะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ โดยควรแบ่งรับประทานมื้อละ 500 มิลลิกรัม แคลเซียมจึงจะถูกดูดซึมได้ดี แต่อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญของการรับประทานยาเม็ดแคลเซียม คือ ท้องผูก จึงควรแนะนำให้ดื่มน้ำตามมากๆ และรับประทานผลไม้ให้มากขึ้น

            แคลเซียมมีปฏิกิริยากับยาได้หลายชนิด เช่น ยาต้านจุลชีพฟลูออโรควิโนโลน ยาต้านจุลชีพเตตร้าไซคลิน ทำให้ยาเหล่านี้ถูกดูดซึมน้อยลง จึงควรรับประทานยาเม็ดแคลเซียมให้ห่างจากยาอื่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และเมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานการศึกษาที่พบว่า การรับประทานยาเม็ดแคลเซียมในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วย แต่การเกิดโรคหลอดเลือดสมองมีอัตราช้ากว่าและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งเกิดโอกาสเสี่ยงได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว การเสริมแคลเซียมมากก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้แก่ผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานในขนาดสูงกว่านี้ เนื่องจากการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันว่าการรับประทานแคลเซียมขนาดสูงจะเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกจนถึงขนาดที่จะลดโอกาสเกิดกระดูกหักได้ [6]

            โรคกระดูกพรุนจึงถือเป็นปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญ และควรมีการป้องกันไม่ให้เป็นโรคโดยการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็ก ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนหากตรวจพบว่ามีกระดูกบาง หรือมีกระดูกหักร่วมด้วย ควรที่จะได้รับยาป้องกัน และหากเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วก็จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา

เอกสารอ้างอิง

[1]. บุษบา จินดาวิจักษณ์. Osteoporosis practice guidelines : What’s new. ใน: บุษบา จินดาวิจักษณ์, ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์, ปรีชา มนทกานติกุล, สุวัฒนา จุฬาวัฒนทล, บรรณาธิการ. Pharmacotherapy guide lines : Review & update for pharmacy practice. กรุงเทพฯ:ประชาชนชน จำกัด. 2555.3-188.

[2]. มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย [อินเทอร์เน็ต]. [อ้างถึง 23 สิงหาคม 2015]. สืบค้น จาก: http://www.topf.or.th/read_hotnews_detail.php?dID=23

[3]. แนวเวชปฏิบัติสำหรับโรคกระดูกพรุน พ.ศ. 2553. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์. 2553.

[4]. National Osteoporosis Foundation. Clinician’s Guide to Prevention and Treatment of Osteoporosis. Washington, DC: NOF. 2013.

[5] การป้องกันโรคกระดูกพรุน - งานการพยาบาลผู้ป่วยพิเศษทั่วไป โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [อินเทอร์เน็ต]. [อ้างถึง 23 สิงหาคม 2015]. สืบค้น จาก:

 http://www.med.cmu.ac.th/hospital/ngenprivate/2013/knowledge_gen_private/130-osteoporosis.html

[6] แคลเซียมกับโรคกระดูกพรุน ตอนที่ 2 ? | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล [อินเทอร์เน็ต]. [อ้างถึง 23 สิงหาคม 2015]. สืบค้น จาก: http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/218/แคลเซียมกับโรคกระดูกพรุน-ตอนที่2/