"มะเร็ง โรคร้ายที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบในระยะเริ่มแรก"
2015-09-09 08:24:42 จำนวนผู้เข้าชม
โดย ".ทรงกฎ คำมาอุต
หลายปีที่ผ่านมามีข่าวการสูญเสียบุคคลสำคัญในสังคมอยู่เป็นระยะ โดยสาเหตุหนึ่งที่นับวันเราจะได้ยินบ่อยและดูใกล้ตัวมากนั่นคือโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยมามากกว่าสิบปี ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้รับการ ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็งก็มีอาการผิดปกติปรากฏขึ้นแล้ว
กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้เป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 60,000 คน ซึ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นประเภทที่คร่าชีวิตผู้ป่วยเพศชายมากที่ สุด (16.2%) และในเพศหญิงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมมากที่สุด (37.5%)
ในความเป็นจริงแล้วมะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ดัง นั้นแพทย์จึงแนะนำให้ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งปัจจุบันการตรวจสุขภาพเป็นเรื่องง่าย ใช้เวลาไม่นาน แต่ผลที่ได้ช่วยให้เราติดตามสุขภาพของตัวเองอย่างใกล้ชิด คุ้มค่ากับเวลาเพียงเล็กน้อยที่เสียไป
"สุขภาพดี เริ่มที่ตัวเราเอง"
มะเร็ง คืออะไร
มะเร็งเป็นโรคที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก และจะพบได้สูงในผู้ป่วยที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
"มะเร็ง" หรือทางการแพทย์เรียกว่า "เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย" เป็นกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับการเจริญของเซลล์ที่มีความผิดปกติ คือ เซลล์จะแบ่งตัวและเจริญอย่างควบคุมไม่ได้ ก่อเป็นเนื้อร้าย และรุกรานไปยังอวัยวะส่วนข้างเคียง หรือแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายที่อยู่ห่างไกล ผ่านระบบน้ำเหลืองหรือกระแสเลือด
เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงต่างจากมะเร็ง (เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย) อย่างไร |
ไม่ใช่ว่าเนื้องอกทุกชนิดจะต้องเป็นมะเร็ง "เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง" (Benign tumor) เป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง เพราะเซลล์ของเนื้องอกชนิดนี้จะแบ่งตัวช้า และไม่ค่อยมีการแทรกตัวเข้าไประหว่างเซลล์ปกติ ไม่ค่อยมีการทำลายเซลล์ปกติใกล้เคียง และไม่สามารถแทรกตัวทะลุเข้าไปในหลอดน้ำเหลืองและหลอดเลือดได้ จึงทำให้ไม่มีโอกาสที่เซลล์เนื้องอกจะแพร่กระจายไปเติบโตเป็นก้อนเนื้อที่ อวัยวะส่วนอื่นที่อยู่ไกลออกไปได้ เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงสามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้
ป้องกันมะเร็งได้อย่างไร |
ผลการวิจัยจากทั่วโลกยืนยันตรงกันว่าโรคมะเร็งร้อยละ 60 สามารถป้องกันได้ โดยการ:
- ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี
- ตรวจเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม
- ฉีดวัคซีนป้องกันในมะเร็งบางประเภท
- ไม่สูบบุหรี่หรือยาเส้น
- ไม่ดื่มสุรา
- ไม่สำส่อนทางเพศ
- ปกป้องตัวเองจากแสงแดดจัด
- รับประทานอาหารที่ช่วยต้านมะเร็ง
- ผักและผลไม้บางประเภท ที่มีสารช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในการทำลายเซลล์ที่ก่อมะเร็ง เช่น คะน้า บร็อกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก มะเขือเทศ กระเทียม หัวหอม ขึ้นฉ่าย ผักโขม แครอท แอปเปิล ส้ม บีทรูท เห็ดหลินจือ
- ธัญพืช ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกจึงลดการเกิดโรคมะเร็งได้ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลี ลูกเดือย งาดำ
- ดื่มน้ำสะอาดที่มีอุณหภูมิปกติไม่ร้อนหรือเย็น ให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อช่วยทำความสะอาดและขจัดสารพิษสิ่งสกปรกออกจากเซลล์ในร่างกาย
- ชาเขียว ที่ประกอบด้วยสารคาเทชินและสารเคมีอีกหลายชนิด ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระในระดับสูง จึงช่วยป้องกันโรคมะเร็ง รวมถึงลดการเติบโตของมะเร็งได้ แต่ควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสม
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นอาหารจากพืชมากขึ้นทั้งผักและผลไม้ เลือกรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการขัดสีให้มากขึ้น
- ไม่รับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น อาหารปิ้งย่างและรมควัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง |
- มีพันธุกรรมผิดปกติ เป็นได้ทั้งพันธุกรรมที่ถ่ายทอดได้ หรือ พันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด
- สูบบุหรี่
- ดื่มสุรา
- ขาดสารอาหาร
- ขาดการกินผัก และผลไม้
- กินอาหารไขมัน และ/หรือ เนื้อแดงสูงต่อเนื่อง เป็นประจำ
- การสูดดมสารพิษบางชนิดเรื้อรัง เช่น สารพิษในควันบุหรี่ (สารก่อมะเร็ง หรือ สัมผัสสารก่อมะเร็ง อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปริมาณสูง
- ร่างกายได้รับโลหะหนักเรื้อรังจาก การหายใจ อาหาร และ/หรือ น้ำดื่ม เช่น สารปรอท
- ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัส เอชไอวี (HIV) ไวรัส เอชพีวี (HPV)
- ติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อเอชไพโลริในกระเพาะอาหาร (โรคติดเชื้อเอชไพโลไร)
- ติดเชื้อพยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ตับ
- การใช้ยาฮอร์โมนเพศต่อเนื่อง
- อายุมาก เพราะเซลล์ผู้สูงอายุมีการเสื่อม และการซ่อมแซมต่อเนื่อง จึงเป็นสาเหตุให้เซลล์กลายพันธุ์ไปเป็นเซลล์มะเร็งได้
9 อันดับของโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด ปี 2557 |
สัญญาณเตือนว่าโรคมะเร็งกำลังมาเยือน |
ร่างกายของมนุษย์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน คุณต้องหมั่นสังเกตุและตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ทันทีที่รู้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าโรคร้ายอย่างมะเร็งกำลังมาเยือน และสิ่งที่ดีที่สุดในการปัองกันไม่ให้ปัญหาเล็กๆ ลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่และสายเกินกว่าจะรักษา คือการรีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อเกิดอาการดังต่อไปนี้
- มีก้อนเนื้อโตเร็วหรือมีแผลเรื้อรัง และไม่หายภายใน 1-2 สัปดาห์ หลังจากการดูแลตนเองในเบื้องต้น
- มีต่อมน้ำเหลืองโต มักคลำเจอก้อนแข็งและขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีอาการเจ็บ
- ไฝ ปาน หูด ที่โตเร็วผิดปกติหรือเป็นแผลแตก
- ลมหายใจมีกลิ่น หรือ มีกลิ่นปากรุนแรงจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- เลือดกำเดาออกเรื้อรัง มักออกเพียงข้างเดียว ในบางกรณีก็อาจจะออกทั้งสองข้างได้
- ไอเรื้อรัง หรือ ไอเป็นเลือด
- มีเสมหะ หรือ น้ำลายปนเลือดบ่อย
- อาเจียนเป็นเลือด
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- ปัสสาวะบ่อย ขัดลำ ปัสสาวะเล็ด โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
- อุจจาระเป็นเลือด มูก หรือ เป็นมูกเลือด
- ท้องผูก สลับท้องเสีย โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
- หลังมีเพศสัมพันธ์ทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน
- มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
- มีประจำเดือนผิดปกติ
- มีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นอึดอัดท้อง โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
- มีไข้ต่ำๆ หาสาเหตุไม่ได้
- มีไข้สูงบ่อย หาสาเหตุไม่ได้
- น้ำหนักลดลงมากใน 6 เดือน (ตั้งแต่ 10% ขึ้นไปของน้ำหนักตัวเดิม)
- มีจ้ำห้อเลือดง่าย หรือ มีจุดแดงคล้ายไข้เลือดออกตามผิวหนังบ่อย
- ปวดศีรษะรุนแรงเรื้อรัง หรือ แขน/ขาอ่อนแรง
- ชักโดยไม่เคยชักมาก่อน
- ปวดหลังเรื้อรังและปวดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจร่วมกับอาการแขน/ขาอ่อนแรง
โรคมะเร็งมีกี่ระยะ |
โดยทั่วไปโรคมะเร็งมี 4 ระยะ ซึ่งทั้ง 4 ระยะ อาจแบ่งย่อยได้อีกเป็น เอ (A) บี (B) หรือ ซี (C) หรือ เป็น หนึ่ง หรือ สอง เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยประเมินการรักษา ส่วนโรคมะเร็งระยะศูนย์ (0) ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะเซลล์แค่เริ่มมีลักษณะเป็นมะเร็งแต่ยังไม่มีการรุกราน (Invasive) เข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง
- ระยะที่ 1 : ก้อนเนื้อ หรือ แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก และยังไม่ลุกลาม
- ระยะที่ 2 : ก้อนเนื้อ หรือ แผลมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ
- ระยะที่ 3 : ก้อนเนื้อ หรือ แผลมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง
- ระยะที่ 4 : ก้อนเนื้อ หรือ แผลมะเร็งมีขนาดโตมาก และ (หรือ) ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง จนทะลุ และ (หรือ) เข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง โดยพบต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้ และ (หรือ) มีหลายต่อม และ (หรือ) แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต และ (หรือ) หลอดน้ำเหลืองหรือกระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ไขกระดูก ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ในช่องอก และ (หรือ) ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า
วิธีรักษาโรคมะเร็งทำได้อย่างไร |
ในปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งมีหลายวิธี ได้แก่ ผ่าตัด รังสีรักษา ยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน ยารักษาตรงเป้า รังสีร่วมรักษา และการรักษาประคับประคองตามอาการด้วยอายุรกรรมทั่วไป โดยผู้ป่วยแต่ละคนจะใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป บางรายอาจใช้วิธีรักษาเพียงวิธีเดียว บางรายจะต้องใช้วิธีการรักษาหลายวิธีร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ
- ระยะของโรค
- ชนิดของเซลล์มะเร็ง
- บริเวณของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่มะเร็ง
- ผ่าตัดได้หรือไม่ หลังผ่าตัด ยังคงหลงเหลือก้อนมะเร็งหรือไม่
- ผลพยาธิวิทยาชิ้นเนื้อหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร
- อายุของผู้ป่วย
- สุขภาพของผู้ป่วย
เอกสารอ้างอิง
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคมะเร็ง (Basic knowledge of cancer) [Internet]. [cited 2015 Sep 9]. Available from: http://www.phukethospital.com/Thai/Health-Information/Cancer.php#06