|
ความเป็นมา |
|
เนื่องด้วยหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต คณะเภสัชศาสตร์ทุกสถาบันได้มีการปรับปรุงจากหลักสูตร ๕ ปี ไปเป็นหลักสูตร ๖ ปี เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศสภาเภสัชกรรม ที่ ๑๒/๒๕๕๑ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับรองสถาบันผลิตบัณฑิตโดยมีการเห็นชอบหลักสูตรเภสัชศาสตร์ดังกล่าว ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๒ รวมไปถึงประกาศสภาเภสัชกรรมที่ ๒๖/๒๕๕๔ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานแหล่งฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพที่กำหนดกรอบแนวทางการฝึกปฏิบัติงานของนิสิตนักศึกษาในสถานที่ที่มีการประกอบวิชาชีพแขนงต่างๆ หรือสถานที่อื่นๆ ที่มีกิจกรรมปฏิบัติที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนการประกอบวิชาชีพโดยตรงโดยเป็นการฝึกปฏิบัติงานทั่วไปภาคพื้นฐาน จำนวนชั่วโมงปฏิบัติการไม่น้อยกว่า ๔๐๐ ชั่วโมง และการฝึกปฏิบัติการงานวิชาชีพภาคสาขาหลัก จำนวนชั่วโมงปฏิบัติการไม่น้อยกว่า ๑,๖๐๐ ชั่วโมง ซึ่งในส่วนวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม หรือวิทยาการทางเภสัชศาสตร์ (ซึ่งภายหลังได้มีการปรับชื่อเป็น “เภสัชอุตสาหการ” ตามประกาศสภาเภสัชกรรมที่ ๑๓/๒๕๕๖) เป็นหนึ่งในวิชาขีพภาคสาขาหลักที่ต้องมีการดำเนินการในส่วนต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว |
|
|
คณะอนุกรรมการอำนวยการศูนย์พัฒนาการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพสาขา Pharmaceutical Sciences |
|
เพื่อให้การฝึกปฏิบัติงานสาขาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรมตามหลักสูตรใหม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) ซึ่งเป็นที่ประชุมคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ ทุกสถาบันทั่วประเทศ จึงได้แต่งตั้งและมอบหมายให้ คณะอนุกรรมการอำนวยการศูนย์พัฒนาการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพสาขา Pharmaceutical Sciences เป็นผู้บริหารจัดการเกี่ยวกับการฝึกปฏิบัติงานในสายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓ มีวาระ ๒ ปี (๒๕๕๓-๒๕๕๕) ซึ่งได้มติและข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น กำหนดแนวทางปรับปรุงหลักสูตรของแต่ละสถาบันให้มีความสอดคล้อง เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น กำหนดผลัด (rotation) การฝึกงานของนิสิต/นักศึกษาทุกสถาบันให้ตรงกัน กำหนดเกณฑ์และเนื้อหาที่จำเป็นสำหรับการฝึกงาน กำหนดวิธีการควบคุมการฝึกงานและการนิเทศงาน เป็นต้น
การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวได้สิ้นสุดลงในปี ๒๕๕๕ ดังนั้นเพื่อให้มีการดำเนินการต่อเนื่อง ทาง ศ.ศ.ภ.ท จึงได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพสาขา Pharmaceutical Sciences (คำสั่งแต่งตั้งที่ ๐๒/๒๕๕๖ และ ๐๔/๒๕๕๖) โดยมีวาระตั้งแต่ปี ๒๕๕๖-๒๕๕๘ โดยมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆจำนวน ๑๗ แห่ง อันได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเซีย และมหาวิทยาลัยพะเยา โดยมีภาระหน้าที่หลักที่ได้รับมอบหมายดังนี้
- ประสานงานการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพรวมถึงการรับข้อมูลจากแหล่งฝึกเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาแหล่งฝึก
- จัดระบบการฝึก การพัฒนาคู่มือ การนิเทศและการประเมินผลการฝึกปฏิบัติงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
- สร้างและพัฒนาระบบสารสนเทศของการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพ
|
|
ปัจจัยเสริมและสนับสนุน |
|
นอกจากนี้แล้วจากการที่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลกและขยายปริมาณการค้าในอาเซียนด้วยกันโดยวิธีการลดภาษีศุลกากรและการยกเลิกมาตรการหรืออุปสรรคที่มิใช่ภาษีสำหรับการค้าภายในภูมิภาค ภายใต้ข้อตกลงและแผนการดำเนินงานของ AFTA ผลิตภัณฑ์ยาเป็นสินค้าสาขาสุขภาพ ซึ่งกลุ่มประเทศสมาชิกต้องลดภาษีนำเข้าให้เหลือร้อยละศูนย์ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ สำหรับสมาชิกเดิม (ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน) และภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ สำหรับสมาชิกใหม่(เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา) และประเทศสมาชิกต้องร่วมกันยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและข้อกีดกันทางด้านเทคนิคต่างๆ ซึ่งการดำเนินการตามนโยบายเหล่านี้ของ AFTA ส่งผลกระทบที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตยาของประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนามาตรฐานการผลิตให้สูงขึ้น ดังนั้นภายใต้นโยบายการเปิดการค้าเสรีที่ต้องการกำจัดข้อกีดกันด้านเทคนิคออก การที่ประเทศใดจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบดุลการค้าจะขึ้นกับความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมของประเทศนั้นเป็นหลัก หากประเทศอื่นในอาเซียนมีความเข้มแข็งและมาตรฐานของอุตสาหกรรมยาสูงกว่าประเทศไทย จะเป็นไปได้อย่างมากที่ในอนาคตไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า ดังนั้นการพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมยาในประเทศให้สูงขึ้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและมีความสำคัญมาก เพื่อความอยู่รอดและเติบโตของอุตสาหกรรม และเพื่อสร้างแนวคิดด้านคุณภาพ และมาตรฐานการผลิตที่ดี ตลอดจนการให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ศ.ศ.ภ.ท. จึงเล็งเห็นความสำคัญในการจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพ ด้าน Pharmaceutical science เพื่อพัฒนาความพร้อมของแหล่งฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพ ในการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ภายใต้บริบทของระบบคุณภาพในการผลิตและพัฒนายาและเภสัชภัณฑ์ ร่วมด้วย ซึ่งต่อมาได้รับทุนสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก เครือข่ายเภสัชศาสตร์ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (คภ. สสส.) ในการทำกิจกรรมต่างๆ ข้างต้น
|
|
|
โครงสร้างการฝึกปฏิบัติงานทั่วไปและการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต วิชาชีพสาขา Pharmaceutical Sciences |
|
กรอบเบื้องต้น เพื่อให้นักศึกษาเภสัชศาสตร์ฝึกงานในส่วนภาคสาขาหลักในแหล่งฝึกที่มุ่งเน้นให้เกิดสมรรถนะทางเภสัชอุตสาหการ เช่น การผลิต การประกันและควบคุมคุณภาพ การวิจัยและพัฒนา และการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ โดยกำหนดให้มีการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพที่เป็นสมรรถนะหลัก ได้แก่ การผลิตและการประกันและควบคุมคุณภาพอย่างละ ๑ ผลัด โดยมีแนวทางการจัดกิจกรรมการฝึกปฏิบัติงานในภาพรวมดังแสดงในรูปที่ ๑
|
|
รูปที่ ๑ โครงสร้างการฝึกปฏิบัติงานทั่วไปและการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต |
|
|